วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

nature of science

ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
The Nature of Science
1. ความหมายของวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ “Science“ มาจากคำว่า Scientic ในภาษาลาติน แปลว่า ความรู้ (Knowledge) ฉะนั้น วิทยาศาสตร์คือ ความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับ ธรรมชาติที่มนุษย์ สะสมมาแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต อย่างไม่รู้จักจบสิ้น นอกจากนี้ยังกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์ คือ องค์ความรู้ที่มีระบบและจัดไว้อย่างมีระเบียบแบบแผน

2. ลักษณะเฉพาะของวิทยาศาสตร์
โซวอลเตอร์ และคณะ (Showalter and others อ้างถึงใน สุเทพ อุสาหะ 2526 :15-16) ได้กล่าวถึงลักษณะของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่าประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1. เป็นความจริงชั่วคราว ไม่มีความเป็นอมตะในวิทยาศาสตร์ 2. เป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถสังเกตหรือทดสอบได้ 3. ทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้ ภายในภาวะคล้ายกัน แม้ว่าเวลาและสถานที่จะเปลี่ยนไป 4. เป็นเรื่องของโอกาสที่จะเป็นไปได้ 5. เป็นผลของความพยายามของมนุษย์ที่จะทำความเข้าใจหรือหาแบบแผนของธรรมชาติ 6. ความรู้วิทยาศาสตร์ในอดีตเป็นพื้นฐานในการพบความรู้ใหม่ ๆ ในปัจจุบัน และความรู้ในปัจจุบันจะเป็นพื้นฐานในการค้นพบสิ่งใหม่ ในอนาคต 7. มีลักษณะเฉพาะตัวคือได้จากวิธีการเสาะแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ 8. มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ ความรู้วิทยาศาสตร์จะช่วยเสริมมโนทัศน์อื่น ๆ 9. วิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้อย่างมีระบบ ปราศจากอคติ ปราศจากผลตอบแทน ส่วนคำว่า "เทคโนโลยี" เป็นเรื่องของการนำความรู้ ความเข้าใจธรรมชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมุ่งแสวงหากระบวนการและรูปแบบในการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม เพื่อประโยชน์ทั้งต่อบุคคลและส่วนรวม ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากเท่ากับเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนรวมของชาวโลกที่เผยแพร่ทั่วไปโดยไม่มีการซื้อขาย ส่วนความรู้ทางเทคโนโลยีเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่มีราคาซื้อขายกันในตลาด (เสริมพล รัตสุข. 2526 : 3-4)


3. ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
3.1 ความรู้วิทยาศาสตร์และธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
สมาคมครูวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา (AAAS, 1989) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ประเทศไทย (IPST, 2003) ได้อธิบายถึง ความเข้าใจในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของวิทยาศาสตร์ศึกษาที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific literacy) ดังนี้
ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific knowledge) เนื่องจากความรู้วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากการสังเกตและประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ องค์ประกอบของความรู้วิทยาศาสตร์ คือ

1. ข้อเท็จจริง (Fact)
คือ การสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือสิ่งใดๆ ที่เป็นอยู่จริงไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่ได้จากการสังเกตโดยตรง หรือโดยอ้อม (ข้อเท็จจริงในธรรมชาติย่อมถูกต้องเสมอ แต่การสังเกตข้อเท็จจริงอาจผิดพลาดได้) ความรู้ที่ได้นี้ เมื่อทดสอบในสถานการณ์หรือสภาวะเดียวกันจะได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้งเช่น “น้ำไหลจากที่สูงสู่ที่ตำ" , "เกลือมีรสเค็ม" ,
2. ความคิดรวบยอดหรือ มโนมติ (Concept)
คือ ความคิดหลัก (Main idea) ของแต่ละบุคคลที่มีต่อเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้นๆ มโนมติเกิดจากการนำข้อเท็จจริงมาศึกษาหรือเปรียบเทียบความแตกต่าง สรุปรวมลักษณะที่สำคัญ มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นๆ สร้างเป็นความคิดหลักในรูปที่แสดงถึงความคิด ความเข้าใจ
ทำให้นำไปใช้ในการบรรยาย อธิบาย หรือพยากรณ์เหตุการณ์ วัตถุ และปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละคนอาจมีนโนมติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ ความรู้เดิม วัยวุฒิ และ เหตุผลของบุคคลนั้นๆ

3. หลักการ (Principle)
เป็นความจริงที่ใช้เป็นหลักในการอ้างอิงได้ โดยนำกลุ่ม มโนมติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งได้รับการทดสอบว่าเป็นจริงแล้วว่าเป็นจริง แล้วนำไปใช้อ้างอิงและพยากรณ์เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ (หลักการต้องเป็นความจริงที่สามารถทดสอบได้ และได้ผลเหมือนเดิม มีความเป็นปรนัย และเป็นที่เข้าใจตรงกัน)


ตัวอย่างที่ 1
"ทองแดง เมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัว""อลูมิเนียม เมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัว""เหล็กเมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัว"
กลุ่มมโนมติ

หลักการ"โลหะทุกชนิดเมื่อได้รับความร้อนจะขยายตัว"


ตัวอย่างที่ 2
"ขั้วบวกกับขั้วบวกจะผลักกัน""ขั้วลบกับขั้วลบจะผลักกัน" "ขั้วลบกับขั้วขั้วบวกจะดูดกัน"
กลุ่มมโนมติ

หลักการ "ขั้วแม่เหล็กชนิดเดียวกันจะผลักกัน
ขั้วต่างกันจะดูดกัน"

4. สมมติฐาน (Hypothesis)
หมายถึง ข้อความที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเพื่อคาดคะเนคำตอบของปัญหาล่วงหน้าก่อนที่จะดำเนินการทดลอง สมมติฐานใดจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลักฐาน เหตุผลที่จะสนับสนุนหรือคัดค้าน (
ตัวอย่าง "เมื่อพืชได้รับแสงมากขึ้น พืชนจะเจริญเติบโตขึ้น" "ถ้าเพิ่มทำละลาย จุดเดือดของสารละลายจะเพิ่มขึ้น" "ถ้าเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้กับพืชมากเกินไป พืชจะเฉาตาย"
5. ทฤษฎี (Theory)
เป็นข้อความที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น เป็นคำอธิบายหรือความคิดที่ได้จากสมมติฐานที่ผ่านการตรวจสอบหลายๆ ครั้ง และใช้อ้างอิงได้ หรือ ทำนายปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างกว้าง สามารถใช้อธิบายกฎ หลักการ และการคาดคะเนข้อเท็จจริงในเรื่องทำนองเดียวกันได้ (ทฤษฎี เป็นความคิดของนักวิทยาศาสตร์ อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อได้รับข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นและน่าเชื่อถือมากขึ้น) เป็นข้อความซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการอธิบายกฎ หลักการ หรือข้อเท็จจริง เป็นข้อความที่ใช้อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นที่น่าเชื่อถือได้และสามารถอนุมานไปเป็นหลักการ กฎ บางอย่างได้
ภาพแสดงการเกิดทฤษฎี (Theory)
6. กฎ (Law)
เป็นหลักการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นข้อความที่ระบุความสัมพันธ์กันระหว่าง เหตุกับผล และอาจเขียนในรูปสมการแทนได้ ผ่านการทดสอบจนเป็นที่น่าเชื่อถือได้มาแล้ว (กฎ มีความจริงในตัวของมันเอง ไม่มีข้อโต้แย้ง สมารถทดสอบได้เหมือนเดิมทุกประการ) กฎอาจเกิดมาได้ 2 ทาง ด้วยกัน จากการอุปมานข้อเท็จจริง โดยการรวบรวมจากข้อเท็จจริงหลายๆ ข้อเท็จจริงมาสรุปเป็น มโนมติ หลักการ จากการอนุมานทฤษฎี โดยการดึงส่วนย่อยของทฤษฎีมาเป็นกฎ เช่น กฎสัดส่วนพหูคูณ แยกย่อยมาจากทฤษฎีอะตอมตัวอย่าง กฎของบอยส์ กล่าวว่า "ปริมาณของก๊าซจะเป็นปฏิภาคผกผันกับความดัน ถ้าอุณหภูมิคงที่"
เมื่อ T คงที่




ภาพแสดงการเกิดกฎ(Law)






3.2 ความสัมพันธ์ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้วิทยาศาสตร์จึงครอบคลุมถึงความเชื่อและเจตคติที่ผู้เรียนมีต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ ความรู้เป็นความจริงที่มีความคงคน แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะความจริงที่มีอยู่แล้วอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้

1. ความเข้าใจเกี่ยวกับการสืบเสาะหาความรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific inquiry) ครอบคลุมถึง ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการค้นคว้าและสืบเสาะหาความรู้วิทยาศาสตร์ เป็นการเข้าใจถึงความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะหาหลักฐานโดยใช้เหตุผลและจินตนาการ ทำการทดลอง อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มาสนับสนุนแนวคิดของตนเองโดยพยายามหลีกเลี่ยงอคติและเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจ
2. ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific enterprise ) เนื่องจากความรู้วิทยาศาสตร์เพียงสาขาใดสาขาหนึ่งไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ เช่น การสังเคราะห์ด้วยแสง เป็น ความรู้ที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทั้งจากสาขาเคมี พฤกษศาสตร์ หรือแม้กระทั่งกลศาสตร์ที่ช่วยสร้างเครื่องมือติดตามอะตอมของคาร์บอน เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ดังนั้น การสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ หรือ การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกิจการที่สำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนโดยรวมต่อไป ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินไปภายใต้สภาพสังคมที่ซับซ้อนทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เรียนไม่อาจมองข้ามได้



3.3 คุณค่าของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
Driver และคณะ (1996) อธิบายว่าคุณค่าและความจำเป็นของการมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ไว้ว่า ความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์จะช่วยให้นักเรียน
1. ทราบถึงขอบเขต ข้อจำกัด ของความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน
2. สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคม ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์ได้
3. ชื่นชมวิทยาศาสตร์ในแง่ของการมีจริยธรรมและวัฒนธรรมของการเรียนรู้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนอยู่ในสังคมได้อย่างรู้เท่าทัน
4. ตระหนักถึงคุณค่า และความจำเป็นของการศึกษาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์ของตนได้ดียิ่งขึ้น

4. กระบวนการได้มาซึ่งความรู้วิทยาศาสตร์

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ( Process of Science) คือ พฤติกรรมที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Science Process Skill) และเจตคติทางวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude) (พิพัฒธ์ เดชะคุปต์, 2540: 220-221) โดยทั่วไปกระบวนการหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (The Process of Science) ประกอบด้วย - ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
- ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific process skills) - เจตคติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude)
4.1 ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ( Scientific Method) เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แสวงหาความรู้ แก้ปัญหา โดยมีขั้นตอน ดังนี้ (พิพัฒธ์ เดชะคุปต์, 2540: 221)
1. ระบุปัญหา
2. ตั้งสมมุติฐาน
3. ทำการทดลอง
4. สังเกตขณะทดลอง
5. รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล
6. ตรวจสอบข้อมูล
7. สรุปผลการทดลอง
การดำเนินการแก้ปัญหา โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์จะสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินการจะมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด ซึ่งทักษะกระบวน การทางวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนเครื่องมือที่จำเป็นในการแสวงหาความรู้ และแก้ปัญหา
4.2 ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์นั้น ผู้สอนจำเป็นจะต้องให้ผู้เรียนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานให้เกิดกับผู้เรียน 13 ทักษะ มีรายละเอียดดังนี้
(ดร.สุวิทย์ มูลคำ. 2547:38-41)
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย 13 ทักษะ ดังนี้
1. ทักษะขั้นมูลฐาน 8 ทักษะ ได้แก่
ทักษะการสังเกต ( Observing )
ทักษะการวัด ( Measuring )
ทักษะการจำแนกหรือทักษะการจัดประเภทสิ่งของ ( Classifying )
ทักษะการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับเวลา ( Using Space/Relationship)
ทักษะการคำนวณและการใช้จำนวน ( Using Numbers )
ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล ( Comunication )
ทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล ( Inferring )
ทักษะการพยากรณ์ ( Predicting )
2. ทักษะขั้นสูงหรือทักษะขั้นผสม 5 ทักษะ ได้แก่
2.1 ทักษะการตั้งสมมุติฐาน ( Formulating Hypthesis )
2.2 ทักษะการควบคุมตัวแปร ( Controlling Variables)
2.3 ทักษะการตีความและลงข้อสรุป ( Interpreting data)
2.4 ทักษะการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ ( Defining Operationally)
2.5 ทักษะการทดลอง ( Experimenting)

รายละเอียดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 13 ทักษะ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
ทักษะการสังเกต ( Observing) หมายถึงการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการสังเกต ได้แก่ ใช้ตาดูรูปร่าง ใช้หูฟังเสียง ใช้ลิ้นชิมรส ใช้จมูกดมกลิ่น และใช้ผิวกายสัมผัสความร้อนเย็น หรือใช้มือจับต้องความอ่อนแข็ง เป็นต้น การใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้จะใช้ทีละอย่างหรือหลายอย่างพร้อมกัน เพื่อรวบรวมข้อมูลก็ได้โดยไม่เพิ่มความคิดเห็นของผู้สังเกตลงไป
ทักษะการวัด ( Measuring) หมายถึง การเลือกและการใช้เครื่องมือวัดปริมาณของสิ่งของออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้อย่างเหมาะสม และถูกต้องโดยมีหน่วยกำกับเสมอในการวัดเพื่อหาปริมาณของสิ่งที่วัดต้องฝึกให้ผู้เรียนหาคำตอบ 4 ค่า คือ จะวัดอะไร วัดทำไม ใช้เครื่องมืออะไรวัดและจะวัดได้อย่างไร
ทักษะการจำแนกหรือทักษะการจัดประเภทสิ่งของ ( Classifying) หมายถึง การแบ่งพวกหรือการเรียงลำดับวัตถุ หรือสิ่งที่อยู่ในปรากฏการณ์โดยการหาเกณฑ์หรือสร้างเกณฑ์ในการจำแนกประเภท ซึ่งอาจใช้เกณฑ์ความเหมือนกัน ความแตกต่างกัน หรือความสัมพันธ์กันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ผู้เรียนจะเลือกใช้เกณฑ์ใด นอกจากนี้ควรสร้างความคิดรวบยอดให้เกิดขึ้นด้วยว่าของกลุ่มเดียวกันนั้น อาจแบ่งออกได้หลายประเภท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่เลือกใช้ และวัตถุชิ้นหนึ่งในเวลาเดียวกันจะต้องอยู่เพียงประเภทเดียวเท่านั้น
ทักษะการใช้ความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับเวลา(Using Space/Relationship)
หมายถึง การหาความสัมพันธ์ระหว่างมิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานที่ รูปทรง ทิศทาง ระยะทาง พื้นที่ เวลา ฯลฯ เช่น การหาความสัมพันธ์ระหว่าง สเปสกับสเปส คือ การหารูปร่างของวัตถุ โดยสังเกตจากเงาของวัตถุ เมื่อให้แสงตกกระทบวัตถุในมุมต่างๆกัน ฯลฯ
การหาความสัมพันธ์ระหว่าง เวลากับเวลา เช่น การหาความสัมพันธ์ระหว่างจังหวะการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกากับจังหวะการเต้นของชีพจร ฯลฯ
การหาความสัมพันธ์ระหว่าง สเปสกับเวลา เช่น การหาตำแหน่งขอวัตถุที่เคลื่อนที่ไปเมื่อเวลาเปลี่ยนไป ฯลฯ

ทักษะการคำนวณและการใช้จำนวน ( Using Numbers) หมายถึง การนำเอาจำนวนที่ได้จากการวัด การสังเกต และการทดลองมาจัดกระทำให้เกิดค่าใหม่ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร การหาค่าเฉลี่ย การหาค่าต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เพื่อนำค่าที่ได้จากการคำนวณ ไปใช้ประโยชน์ในการแปลความหมาย และการลงข้อสรุป ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เราต้องใช้ตัวเลขอยู่ตลอดเวลา เช่น การอ่าน เทอร์โมมิเตอร์ การตวงสารต่าง ๆเป็นต้น
ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล ( Communication)
หมายถึงการนำเอาข้อมูล ซึ่งได้มาจากการสังเกต การทดลอง ฯลฯ มาจัดกระทำเสียใหม่ เช่น นำมาจัดเรียงลำดับ หาค่าความถี่ แยกประเภท คำนวณหาค่าใหม่ นำมาจัดเสนอในรูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น กราฟ ตาราง แผนภูมิ แผนภาพ วงจร ฯลฯ การนำข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายๆอย่างเช่นนี้เรียกว่า การสื่อความหมายข้อมูล
ทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล( Inferring) หมายถึง การเพิ่มเติมความคิดเห็นให้กับข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีเหตุผลโดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย ข้อมูลอาจจะได้จากการสังเกต การวัด การทดลอง การลงความเห็นจากข้อมูลเดียวกันอาจลงความเห็นได้หลายอย่าง
ทักษะการพยากรณ์ (Predicting) หมายถึงการคาดคะเนหาคำตอบล่วงหน้าก่อนการทดลองโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การวัด รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ได้ศึกษามาแล้ว หรืออาศัยประสบการณ์ที่เกิดซ้ำ ๆ
ทักษะการตั้งสมมุติฐาน ( Formulating Hypothesis) หมายถึง การคิดหาค่าคำตอบล่วงหน้าก่อนจะทำการทดลอง โดยอาศัยการสังเกต ความรู้ ประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐาน คำตอบที่คิดล่วงหน้ายังไม่เป็นหลักการ กฎ หรือทฤษฎีมาก่อน คำตอบที่คิดไว้ล่วงหน้านี้ มักกล่าวไว้เป็นข้อความที่บอกความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตามเช่น ถ้าแมลงวันไปไข่บนก้อนเนื้อ หรือขยะเปียกแล้วจะทำให้เกิดตัวหนอน
ทักษะการควบคุมตัวแปร (Controlling Variables) หมายถึงการควบคุมสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากตัวแปรอิสระ ที่จะทำให้ผลการทดลองคลาดเคลื่อน ถ้าหากว่าไม่ควบคุมให้เหมือนๆกัน และเป็นการป้องกันเพื่อมิให้มีข้อโต้แย้ง ข้อผิดพลาดหรือตัดความไม่น่าเชื่อถือออกไป
ตัวแปรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น
2. ตัวแปรตาม
3. ตัวแปรที่ต้องควบคุม

ทักษะการตีความและลงข้อสรุป ( Interpreting data)
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของลักษณะตาราง รูปภาพ
กราฟ ฯลฯ การนำข้อมูลไปใช้จึงจำเป็นต้องตีความให้สะดวกที่จะสื่อความหมายได้ถูกต้องและเข้าใจตรงกัน
การตีความหมายข้อมูล คือ การบรรยายลักษณะและคุณสมบัติ
การลงข้อสรุป คือ การบอกความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีอยู่ เช่น ถ้า ความดันน้อย น้ำจะเดือด ที่อุณหภูมิต่ำหรือน้ำจะเดือดเร็ว ถ้าความดันมากน้ำจะเดือดที่อุณหภูมิสูงหรือน้ำจะเดือดช้าลง
ทักษะการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ (Defining operationally) หมายถึง การกำหนดความหมาย และขอบเขตของคำต่าง ๆที่มีอยู่ในสมมุติฐานที่จะทดลองให้มีความรัดกุม เป็นที่เข้าใจตรงกันและสามารถสังเกตและวัดได้ เช่น “การเจริญเติบโต” หมายความว่าอย่างไร ต้องกำหนดนิยามให้ชัดเจน เช่น การเจริญเติบโดหมายถึง มีความสูงเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ทักษะการทดลอง ( Experimenting) หมายถึง กระบวนการปฏิบัติการโดยใช้ทักษะต่างๆ เช่น การสังเกต การวัด การพยากรณ์ การตั้งสมมุติฐาน ฯลฯ มาใช้ร่วมกันเพื่อหาคำตอบ หรือทดลองสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม 3 ขั้นตอน
1. การออกแบบการทดลอง
2. การปฏิบัติการทดลอง
3. การบันทึกผลการทดลอง
การใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ แสวงหาความรู้ หรือแก้ปัญหาอย่างส่ำเสมอ ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เกิดผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เกิดผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ที่แปลกใหม่ และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น

4.3 เจตคติทางวิทยาศาสตร์
สิ่งที่จะทำให้ความรู้วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์นั้นจะต้องมีองค์ประกอบอีกอย่างที่สำคัญ ก็คือเจตคติทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง ซึ่งเจตคติทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง คุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ หรือคุณลักษณะของบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมของตนออกมา ซึ่งจะมีผลต่อความสำเร็จของงานทางวิทยาศาสตร์ แฮนี่ย์ ( Richard E. Haney ) ได้กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญดังกล่าวไว้ ( Haney, 1964 : 33-35 และ Thurber and Collette, 1970 : 154 ) ดังนี้
1. ความอยากรู้อยากเห็น ( Curiosity )
2. ความมีเหตุมีผล ( Rationality )
3. การไม่ด่วนสรุป ( Suspended judgment )
4. ความใจกว้าง ( Open - mindedness )
5. การมีวิจารณญาณ ( Critical - mindedness )
6. การไม่ถือตนเป็นใหญ่ ( Objectivity )
7. ความซื่อสัตย์ (Honesty )
8. ความอ่อนน้อมถ่อมตน ( Humility )

5. ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของนักเรียน
Moss และ Robb(2001) ได้สำรวจความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 จำนวน 5 คน ในสหรัฐอเมริกา โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured interview) พบว่า นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในด้านของความรู้วิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับด้านของกิจการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ Bell และคณะ (2003) ที่สำรวจความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 จำนวน 10 คน ที่เรียนจบโปรแกรมภาคฤดูร้อนที่จัดให้นักเรียนฝึกปฏิบัติการกับนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง การสำรวจใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง พบว่า นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี แต่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของกิจการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่ง Bell และคณะ ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า อาจเป็นเพราะนักเรียนมีความเชื่อบางอย่างที่ขัดขวางการทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของกิจการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ Moss และ Robb คิดว่าอาจเป็นเพราะนักเรียนไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาธรรมชาติของวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
สิรินภา นฤมล และอรุณี (2548) ได้ศึกษาความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 12 คน จากโรงเรียนมัธยมศึกษา ก ข และค ปีการศึกษา 2547 ในประเทศไทย โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ซึ่งการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้วิทยาศาสตร์และธรรมชาติของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากกว่าความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของกิจการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลการวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับบทสรุปของ Moss และ Robb(2001) และ Bell et al. (2003)
ดังนั้น เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ครบโดยสมบูรณ์ Abd-El-Khalick และคณะ (1997) แนะนำว่า การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จึงควรเน้นการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น กล่าวคือ นอกจากจะจัดการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำการทดลองหรือฝึกปฏิบัติแล้ว ครูผู้สอนจำเป็นต้องสื่อสารออกมาให้นักเรียนได้รับรู้ รับฟัง หรือได้มองเห็นถึงความสำคัญของกิจการทางวิทยาศาสตร์ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ Barker (1997) ยกตัวอย่างไว้ว่า การเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความรู้เรื่องการสังเคราะห์ด้วยแสง ที่แสดงให้นักเรียนเห็นลำดับเหตุการณ์และภูมิหลังของการพัฒนาแนวคิดวิทยาศาสตร์จนกระทั่งเกิดการค้นพบความรู้ใหม่อย่างมีเหตุผล อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจในกิจการทางวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ Mathews (1994) และ McComas และคณะ (1998) เสนอแนะว่า การส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจถึงประวัติการพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ในแต่ละเรื่อง น่าจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการมีความคิดสร้างสรรค์ที่พานักวิทยาศาสตร์ไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ๆ อีกทั้งอาจช่วยให้นักเรียนยอมรับและเข้าใจในเนื้อหาความรู้วิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

6. แนวทางการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
Allchin และคณะ (1999) ได้ประยุกต์ใช้เรื่องราวประวัติวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในวิชาปฏิบัติการ ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส (the University of Texas) ประเทศสหรัฐอเมริการ ภายหลังจากที่พบว่า นักศึกษาที่ไม่ศึกษาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาเอก (non-major science students) ไม่มีความสุขกับการเรียนในวิชาดังกล่าว Allchin และคณะ จึงตัดสินใจปรับปรุงรูปแบบการทำปฏิบัติการ โดยนำประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (science-technology-society) ที่เกิดขึ้นในอดีตมาชี้นำให้นักเรียนวิเคราะห์ อภิปราย และวางแผนสำรวจแนวคิดสั้นๆ แล้วลงมือทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ด้วยตนเอง ผลการปรับปรุงครั้งนี้พบว่า นักเรียนร่วมทำปฏิบัติการและทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนคิดว่าการทำปฏิบัติการช่วยเหลือให้พวกเขาเข้าใจถึงวิธีการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม Barker (1997) และ Gallas (1995) ให้แง่คิดไว้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้ประวัติวิทยาศาสตร์นี้ จะได้ผลก็ต่อเมื่อได้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้จริงของนักเรียน

ในระดับประถมศึกษา การใช้เทคนิค ทำนาย สังเกต อธิบาย หรือ P.O.E. (Predict Observe Explain) อาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ครูสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสสำรวจ ทดลอง และเก็บข้อมูล เพื่อพิสูจน์สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในอดีตได้ค้นพบด้วยตนเอง (White & Gunstone, 1992) การจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการนี้
1. ครูจำเป็นต้องจัดเตรียมสถานการณ์ เช่น การทดลองเกี่ยวกับการสังเคราะห์ด้วยแสง มากระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ ถามคำถาม จากนั้นครูขอให้นักเรียนลองทำนายถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบ
2. ครูสาธิตสถานการณ์นั้นให้นักเรียนดู จากนั้นจึงให้นักเรียนบันทึกสิ่งที่สังเกตเห็น ในกรณีที่นักเรียนสามารถจัดเตรียมสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง ครูอาจให้เด็กเป็นผู้เตรียมสถานการณ์นั้นเองก็ได้
3. นักเรียนและครูร่วมกันอภิปรายสิ่งที่สังเกตได้โดยพยายามเชื่อมโยงถึงคำอธิบาย ที่นักเรียนได้กล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มการสาธิต
อย่างไรก็ตาม ครูต้องพยายามทำให้นักเรียนทุกคนรู้สึกว่าทุกๆ คำอธิบายล้วนแต่มีประโยชน์ สามารถช่วยให้ครูและนักเรียนหาคำอธิบายที่ถูกต้องได้
การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยบูรณาการธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ภายใต้การปฏิบัตการทดลองรวมทั้งการประยุกต์ใช้เรื่องราวประวัติวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสถานการณ์ที่น่าสนใจแก่การทดลอง อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ความรู้วิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสืบเสาะหาความรู้วิทยาศาสตร์และกิจการทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการบูรณาการ อาจช่วยให้นักเรียนซาบซึ่งและตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จนนำมาซึ่งความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ของตนเองต่อไป

7. การนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในสังคม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น
จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องรู้ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ กระบวนการ วิธีการ รวมถึง
ข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
วิทยาศาสตร์จึงมีความสัมพันธ์กับสังคม ความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นอย่างมากพัฒนาการของการเกิดความรู้เกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ของมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งมนุษย์ด้วยกันและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่หลากหลายทำให้เกิดความสงสัยที่ต้องการคำตอบ จึงมีการแสวงหาคำตอบที่น่าเชื่อถือด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการตั้งสมมติฐาน ค้นคว้า ทดลองจนเหตุการณ์เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนสรุปเป็น กฎ ทฤษฎี ต่าง ๆ ที่ใช้ในการอธิบาย ทำนาย หรือควบคุมปรากฏการณ์ต่าง ๆ และมีการศึกษาลึกลงไปเชิงเดี่ยวสาขาวิทยาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 18 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสาขาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ มีการพัฒนาเทียบได้กับการเป็นยุคทองของวิทยาศาสตร์ทุกสาขา ดังปรากฏหลักฐานการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ พร้อม ๆ กับความ ก้าวหน้าด้านฟิสิกส์และกลศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและมีการพัฒนาของวิทยาศาสตร์ทุกสาขาเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ในการที่จะครองโลกวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่ทำให้เกิดภาวะโลกไร้พรหมแดน อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่า เนื้อหาความรู้ในแต่ละแขนงวิชาก็มีความลึกซึ้ง และเริ่มขยายขอบเขตไปคาบเกี่ยวกับคน ในบางครั้งไม่อาจจะแยกลงไปอย่างชัดเจนว่าจัดอยู่ในสาขาใดแน่ ตัวอย่างเช่น วิชาชีวเคมี วิชาชีวฟิสิกส์ และวิศวกรรมการแพทย์ เป็นต้น (เติมศักดิ์ เศรษฐวัชราวนิช. 2540 :4-10) จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างเหลือคณานับ เช่น
1. การแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ในชีวิตประจำวันเมื่อมีปัญหา โดยการใช้เหตุผลเพื่อหาคำตอบในชีวิตประจำวัน เพื่อหาสาเหตุของปัญหานั้นอย่างมีเหตุผล สามารถทำให้เราแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือ ทำให้คนให้มีกระบวนการคิด มีเหตุมีผล ไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไร้สาระสามารถวิเคราะห์ปัญหาในสถานการณ์ที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันเพื่อการแก้ปัญหาซึ่งจะเป็นกระบวนการของการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี
2. การปรับปรุงคุณภาพของชีวิต วิทยาศาสตร์ได้นำความสุข ความสะดวกสบายมาสู่การดำรงชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการ ทำให้มนุษย์ รู้จักวิธีรักษาอาหารไม่ให้บูดเสีย รู้จักคุณค่าของอาหารแต่ละประเภท และคิดประดิษฐ์อาหารขึ้นได้ 3. การเครื่องนุ่งห่ม ได้รู้จักการผลิตผ้าที่มีคุณภาพจากการใช้เทคนิค และสารเคมีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งในปัจจุบันได้พัฒนาผ้านาโนเทคโนโลยี เป็นต้น
3. ด้านสุขภาพอนามัย ปัจจุบันมนุษย์มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น จากภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น การ ดูแลสุขภาพ และวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทั้งชีวะ เคมี และฟิสิกส์ ในการรักษา และดูแลสุขภาพ
4. ด้านที่อยู่อาศัยและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางที่รวดเร็วด้วยยานพาหนะต่าง ๆ
5. ด้านการสันทนาการ เช่น ภาพยนต์ โทรทัศน์ การถ่ายรูป วิทยุ เทป คอมพิวเตอร์เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์การกีฬา และเทคนิกการเล่นกีฬาแต่ละประเภท อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น
6. การตัดต่อยีนส์ การปลูกถ่ายไขกระดูก การสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม ในการรักษาโรค และการคัดสรรพันธุ์ เพื่อการดำรงพันธุ์
อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิทยาศาสตร์ จะนำความก้าวหน้ามาสู่สังคมมนุษย์ ขณะเดียวกันหากไม่มีการควบคุมหรือใช้อย่างสร้างสรรค์ ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่าง สมดุล และสารสุดท้าย (end products) จากการผลิตก่อให้เกิดมลภาวะอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ดังนั้น ในอนาคตมนุษย์ควรสร้างสรรค์และหาแนวทางที่จัดเป็นวิทยาศาสตร์แนวใหม่ให้เป็นวิทยาศาสตร์ ทางเลือก (alternative science) เพื่อการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม และผสมผสานศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์เข้าด้วยกัน เช่นการคิดค้น Biological Physic มาศึกษาถึงกลไกต่าง ๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต เพื่อสร้างทฤษฎีอธิบายและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างบูรณาการ ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล นอกจากนี้ควรนำทฤษฎีสัมพันธภาพ ทฤษฎีในกลศาสตร์ควอนตัม มาใช้กับวิทยาศาสตร์สังคม ให้มีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์อย่างเหนียวแน่น ในการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสันติของมวลมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น